วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สรุป โทรทัศน์ครู

     คุณกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การปลูกฝังให้เด็กหรือเยาวชนสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ ควรทำตั้งแต่ยังเด็ก เพราะว่าเด็กปฐมวัย วัยประมาณ 3-5 ขวบ เป็นวัยที่พร้อมจะเรียนรู้ ถ้าเด็กเขาฝังใจอะไรแล้ว ฝังใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่สนุก เขาจะมีความประทับใจที่ดีต่อเนื่องไปถึงอนาคต และคุณกรรณิการ์ เฉิน ยังนำเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ที่เด็กเข้าใจง่ายมาแนะนำให้กับคุณครู
การทดลอง
กิจกรรมที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของน้ำตาล
     หยิบน้ำตาล 1 ก้อน แล้วนำไปวางไว้ที่กระดาษทิชชู่ของตนเอง ทีนี้ใช้หลอดหยด ดูดสีผสมอาหารขึ้นมา หยดไปที่น้ำตาลก้อน 1 หยด คุณกรรณิการ์ เฉิน ก็จะใช้เทคนิค การใช้คำถามให้คุณครูสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับก้อนน้ำตาลบ้าง ซึ่งแนะเทคนิคนี้ให้กับคุณครูนำไปใช้กับเด็กในระหว่างการทดลองมีการพูดคุยกัน สามารถตั้งคำถาม ก็เป็นการฝึกเด็กคิดวิเคราะห์โดยการสังเกต นำมาเปรียบเทียบ จะเป็นการให้เขาได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ รวมทั้งฝึกการสื่อสารที่จะเล่าว่าเขาได้เห็นปรากฎการอะไรเกิดขึ้น 
     เมื่อคุณครูมยุรี สุวรรณรัตน์ นำการทดลองนี้ไปใช้กับเด็กจริงๆ เด็กๆสนใจ มีการตั้งคำถามให้เด็กสังเกตว่าทำไมน้ำตาลถึงละลาย เด็กก็จะรู้ว่าเป็นเพราะเราหยดน้ำลงไปนั้นเอง ซึ่งพัฒนาการที่เด็กได้ในวันนี้อย่างแรกเลยก็คือ พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กได้ลงมือกระทำ ได้ใช้กล้ามเนื้อมือส่วนต่างๆในการหยิบ จับของ

กิจกรรมที่ 2 ความลับของสีดำ
     หยิบกระดาษทิชชู่ 2 ใบ ใบแรกพับทบครึ่งนึง เสร็จแล้วพับทบนึงอีกครั้ง และเอากรรไกรตัดมุม 1 มุมเพื่อทำเป็นรูตรงกลาง นำสีเมจิกสีดำวาดรูปอะไรก็ได้รอบวง จากนั้นนำกระดาษทิชชู่อีกใบหนึ่งม้วนเป็นกรวยที่จะเสียบเข้าไปในรูที่ตัดไว้เมื่อกี้ได้ เสร็จแล้วเอาตรงปากกรวย(ที่กว้างๆ)ใส่ลงไปในแก้วน้ำ สังเกตได้ว่าน้ำจะซึมขึ้นมากระจายออกไปทำให้สีที่วาดรอบรูกระดาษทิชชู่ละลายตัว ที่น้ำซึมเพราะกระดาษ มาจากตัวข้างล่างก่อนและผ่านมาชนกระดาษชิ้นบน เมื่อน้ำยังคงซึมอยู่ตลอดสีก็จะเคลื่อนที่ออกไปตามความกว้างของน้ำที่ซึม และสีก็จะค่อยๆจางลงด้วย
     ที่น่าสงสัยว่าเราใช้สีดำวาดสีเดียวแต่เมื่อสีละลายกับน้ำ เกิดสีอื่นๆ นอกจากสีดำ ปัจจัยแรกเพราะว่าสีแต่ละสีจะละลายน้ำดีไม่เท่ากัน สีที่ละลายน้ำได้ดีแล้วก็สามารถที่จะเคลื่อนที่ไปกับน้ำได้เร็วกว่ามันก็จะเคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่า กับอีกปัจจัยหนึ่งความสามารถของตัวสีที่มันจะดูดติดกับกระดาษ ถ้าดูดติดมากมันจะเคลื่อนที่ได้ช้า
     เมื่อคุณครูณัชนาพร ทาเขียว นำการทดลองนี้ไปประยุกต์ใช้โดยกำหนดรูปภาพให้เด็กออกมาระบายสีน้ำในรูปเพียงสีเดียวเท่านั้น(รูปอื่นๆก็คละสี) เช่น รูปสามเหลี่ยม ระบายสีเหลือง ไม่ใช้สีดำ และครูให้เด็กสังเกตน้ำในแก้วที่ใช้ล้างพู่กัน ทั้งที่เราไม่ได้ใช้สีดำเลย แต่น้ำในแก้วนั้นกลับเป็นสีดำ จากนั้นคุณครูก็นำเข้าสู่การทดลองความลับของสีดำ เด็กได้พัฒนาการทางภาษา กล้าแสดงออก และในเรื่องความคิดสร้างสรรค์

กิจกรรมที่ 3 การล้นของน้ำ
     ให้เลือก ฝาขวดน้ำ หรือ ที่รองแก้ว หรือขวดยาคูลท์ ใช้หลอดดูด ดูดน้ำใส่ลงไปจนเต็ม เมื่อเต็มค่อยหยดน้ำลงไปทีละหยด ให้สังเกตดูข้างๆว่าน้ำจะล้นออกมาไหม ปรากฏว่ายังไม่ล้น จึงลองเอาคลิปหนีบกระดาษหย่อนลงไปหลายอัน กว่าน้ำจะล้นออกมาจากปากขวด ก็หย่อนคลิปหนีบลงไป 20 กว่าอัน เกินความคาดหมายของเราที่คิดว่ามันน่าจะล้นได้ตั้งนานแล้ว เพราะว่าแรงดึงของน้ำจะเห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้เน้นให้เด็กรู้จักสังเกต รู้จักคิดตั้งคำถามแล้วหาคำตอบด้วยตนเอง

กิจกรรมที่ 4 การจม-การลอย
     การนำสิ่งของต่างๆ รอบๆตัวเรา เช่น หลอด ลูกปัด(แบบเล็ก หรือแบบใหญ่) ไม้จิ้มฟัน ฯลฯ ให้เด็กๆตั้งคำถาม คิดสิ่งของอันไหนน่าจะลอยน้ำ หรือจมน้ำ เมื่อทำการทดลอง อย่างหลอดหย่อนลงไปในน้ำ ลอยอยู่เหนือน้ำเพราะมันเบา ส่วนไม้จิ้มฟันที่เราคิดว่าลอยกลับจม แต่เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลอย คือ เปลี่ยนลักษณะการวาง ค่อยๆวางลงไปเป็นแนวนอน เป็นต้น
     เด็กๆได้ฝึกทักษะกล้ามเนื้อมือการควบคุม ฝึกสมาธิตั้งใจในการวางให้เบาที่สุดเพื่อไม่ให้จม เพราะแรงดึงของน้ำ ซึ่งเราเรียกว่า แรงตึงผิว เวลาเราวางอะไรสักอย่างลงไปในน้ำ แรงที่เราวางถ้ามันค่อยเพียงพอ แรงตึงผิวของน้ำสามารถรองรับวัตถุอันนั้นได้ แต่ถ้าเราปล่อยลงไปแรงๆ จะมีแรงเพิ่มลงไป แสดงว่าแรงตึงผิวของน้ำรับแรงนี้ไม่ไหวมันก็จะจมลงไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น